2553-08-26

อาหารไทย (Thai Food)

ภาคกลาง
จะมีรสชาติผสมผสาน มีทั้งเปรี้ยว หวาน เค็ม เครื่องเทศต่างๆ มักใช้กะทิเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร แบ่งออกเป็น
1. อาหารที่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ เช่น เครื่องแกง เครื่องเทศ จากอินเดีย การผัดโดยใช้น้ำมันมาจากประเทศจีน ของหวานจำพวก ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง มาจากโปรตุเกส เป็นต้น
2. อาหารที่ต้องใช้ความประณีตในการประดิษฐ์ อาทิเช่น การแกะสลักผักผลไม้ ขนมช่อม่วง ลูกชุบ ข้าวแช่
3. อาหารที่มีเครื่องเคียงของแนม อาทิ น้ำพริกต่างๆ น้ำปลาหวานสะเดา

4. อาหารว่างและขนม อาทิ กระทงทอง บัวลอย ขนมลืมกลืน ขนมขี้หนู ข้าวตังหน้าตั้ง ขนมสอดไส้ เป็นต้น

ภาคเหนือ
เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธรรมชาติ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาหารส่วนใหญ่จะยังคงใช้พืชตามป่าเขา หรือที่เพาะปลูกไว้มาปรุงอาหาร โดยมีแบบเฉพาะในการรับประทานเรียกว่า “ขันโตก” อาหารทางเหนือไม่นิยมใส่น้ำตาล เพราะความหวานจะได้จากพืชผักต่างๆ จากการต้ม การผัด อาหารภาคเหนือที่รู้จักกัน อาทิ น้ำพริกหนุ่มมีเครื่องแนมคือแคบหมู ขนมจีนน้ำเงี้ยว แกงฮังเล ไข่มดส้ม เป็นต้น

ภาคใต้
เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ติดทะเล อาหารหลักมักเป็นอาหารทะเล พวกกุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งโดยปกติจะมีกลิ่นคาว จึงมักใช้เครื่องเทศและขมิ้นเพื่อดับกลิ่น จึงมีรสเผ็ดร้อน เค็ม และเปรี้ยว แต่ไม่นิยมรสหวาน มีอาหารหลายประเภทที่นิยมรับประทานกับผักเพื่อลดความเผ็ดร้อน เรียกว่า “ผักเหนาะ” หรือ “ผักเกร็ด”
อาหารทางภาคใต้ที่นิยมรับประทาน ได้แก่ ข้าวยำปักษ์ใต้ แกงไตปลา แกงเหลือง เป็นต้น


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศที่ร้อน ภูเขา ป่าไม้มีน้อย ดินเป็นดินร่วนปนทราย เก็บน้ำไม่ได้ดี แต่มีผักพื้นบ้านต่างๆ อาทิ ผักหูเสือ แคป่า ผักจิก นิยมเลี้ยงสัตว์ประเภทวัว ควาย ดังนั้นจึงนิยมบริโภคเนื้อสัตว์เหล่านี้ สัตว์อื่นๆ ที่มีในธรรมชาติก็นำมาประกอบอาหารเช่นกัน อาทิ มดแดง ตั๊กแตน แมงดานา โดยทั่วไปอาหารจะมีรสชาติเผ็ด เปรี้ยว เค็ม จึงมีการถนอมอาหารในรูปแบบต่างๆ อาทิ ปลาร้า เนื้อเค็ม เป็นต้น อาหารที่เป็นที่นิยม อาทิ ส้มตำต่างๆ แกงอ่อม ต้มเปรอะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น